การศึกษาเพื่อเด็กไทย ในศตวรรษที่ 21
การศึกษาเพื่อเด็กไทย ในศตวรรษที่ 21 : เอาชนะความกลัวและปรับตัวสู่ New Normal โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการภาคประชาสังคม กสศ.
ครูมาแล้ว ขอเสนอ บทความ การศึกษาเพื่อเด็กไทย ในศตวรรษที่ 21 : เอาชนะความกลัวและปรับตัวสู่ New Normal โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการภาคประชาสังคม กสศ. ซึ่งเรียบเรียงจาก “จัดระเบียบ วางระบบการศึกษา รับเปิดเทอม”
พูดคุยกับ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชวนเสวนาโดย พิชญาพร โพธิ์สง่า ใน The Active Podcast Ep.38 วันที่ 20 มิถุนายน 2564 ความว่า
การเปิดเรียนสำคัญมาก เพราะแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยเอาชนะเรื่องความหวาดกลัว ความหวาดระแวงของผู้ปกครอง ไปสู่ระบบการเรียนรู้ซึ่งเป็นชีวิตจิตใจของเด็ก
จากการทำงานภาคสนามก่อนเปิดเทอม พบว่าเด็กมีอาการเครียดเงียบสะสม ความรู้ถดถอย มีปัญหาเรื่องโภชนาการและความเสี่ยงต่อการออกจากระบบการศึกษา ปีที่ผ่านมาการปิดเทอม 90 วัน ส่งผลเสียมากกว่าผลดี การเปิดเทอมครั้งนี้จึงต้องออกแบบการเรียนให้เป็น New Normal
การถดถอยทางการศึกษามีประมาณ 20 – 50 เปอร์เซ็นต์ ในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ขึ้นอยู่กับบริบทและจำนวนวันที่หยุด เด็กสามารถอ่านเป็นคำหรืออ่านเป็นประโยคได้ลดลง เด็กประถมวัยมีอาการกล้ามเนื้อถดถอย ทั้งนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการมีปฏิสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นของเด็กถอยหลังลงมาก
การเรียนรู้ที่ดีที่สุดของคนในศตวรรษที่ 21 คือ เรียนรู้จาก Project based learning
การจัดการการเรียนรู้ในสถานการณ์โควิด-19 ของไทยยังยืนอยู่กับการเรียนรู้รูปแบบ 5-On ซึ่งถือว่าเปลี่ยนแปลงน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ต่างประเทศมีความเป็นห่วงเด็กและพลเมืองของประเทศที่จะเติบโตในอนาคต หากเกิดภาวะการถดถอยทางการศึกษาจะส่งผลกระทบกับตลาดแรงงาน ค่า GDP และคุณภาพของประชากรในภาพรวม
หลายประเทศจึงมีเรื่องอาสาสมัครทางการศึกษา กองทุน การออกแบบการเรียนรู้หรือสื่อการสอนที่ทำให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติมากขึ้น
การเรียนรู้ที่ดีที่สุดของคนในศตวรรษที่ 21 คือเรียนรู้จาก Project based learning หรือการเรียนการสอนแบบโครงงาน เด็กจะได้ลงมือปฏิบัติ มีทัศนคติที่ดี มีเพื่อน มีการขึ้นโจทย์ ทุกประเทศควรปรับตัวไปในแนวทางนี้
ฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ
- ฐานครอบครัว ในช่วงโควิด-19 เด็กต้องอยู่กับพ่อแม่มากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีในการทำ Home based learning ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้อยู่กับพ่อแม่และสามารถสร้างเสริมลักษณะนิสัยให้กับลูกของตนเองได้
- ฐานโรงเรียน มีส่วนสำคัญในการสร้างบูรณาการ ขึ้นโจทย์ ขึ้นโครงงาน ครูมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นโค้ช เป็น Facility factor การออกแบบการเรียนรู้ที่เด็กจะได้เรียนรู้อยู่ที่บ้านและมาพูดคุยปรึกษาที่โรงเรียนเป็นครั้งคราว
- ฐานชุมชน ใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ภาคปฏิบัติเรื่องศิลปวัฒนธรรมอาชีพ ที่สามารถพาเด็กลงสู่การเรียนรู้แบบปฏิบัติจริงได้ เพื่อไม่ให้เด็กเรียนอยู่ในห้องอย่างเดียว การพบปะผู้คนในลักษณะนี้ทำให้โอกาสในการติดโควิด-19 ลดลง เนื่องจากไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในห้องเรียน
- ฐานระบบไอที จากการวิจัยพบว่าประเทศไทยไม่ประสบผลความสำเร็จในการใช้ระบบไอทีกับการเรียนรู้ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วยเสริม โดยดึงข้อมูลจากแอปพลิเคชันต่างๆ มาออกแบบการเรียนรู้บนฐานระบบโครงงานเพื่อบูรณาการทุกวิชาเข้าด้วยกัน จึงจะแก้การถดถอยของระบบการศึกษาได้
การทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ต้องให้ผู้กำหนดนโยบายส่วนกลางกำหนดทิศทาง แต่เวลาลงไปสู่การปฏิบัติจริงนั้นต้องทำอย่างที่อธิบายไปข้างต้น ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปตามบริบทและพื้นที่เพื่อให้เป็น Active learning ที่ตอบโจทย์เด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ได้
ที่มา : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ข่าวการศึกษา โดย ครูมาแล้ว เพื่อให้คุณครูทันทุกข่าวสาร ทั้งอบรมออนไลน์ แบบทดสอบออนไลน์ การเลื่อนวิทยฐานะ ข่าวการสอบบรรจุครูผู้ช่วย การสอบโอเน็ต และข่าวสารอื่นๆในแวดวงการศึกษาไทย